หน่วยที่ 4 มารยาทในการทักทาย



 จรรยามารยาทในการทักทายกันในอิสลาม


การทักทาย เป็นมารยาททางสังคมอีกประการหนึ่ง ซึ่งแสดงออกถึงความผูกพัน ความมีมิตรไมตรี และความสมานฉันท์กันของผู้คน ดังนั้น ผู้คนในสังคมต่าง ๆ จึงมีวิธีการและคำทักทายตลอดจนมารยาทในการทักทายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม มุสลิมก็เป็นอีกประชาคมหนึ่ง ซึ่งมีวัฒนธรรมของตนเองในการทักทาย และอิสลามได้กำหนดมารยาทในการทักทายให้แก่มุสลิมให้ปฏิบิติดังนี้ :-

   
                   1.  คัมภีร์กุรอานกำหนดให้มุสลิมกล่าวคำว่า "อัสสะลามุอะลัยกุม" (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) เมื่อพบปะพี่น้องมุสลิมด้วยกัน และเป็นหน้าที่สำหรับผู้ได้รับคำทักทายดังกล่าว จะต้องกล่าวตอบรับว่า "วะอะลัยกุมุสสะลาม"(ขอความสันติจงมีแด่ท่านเช่นกัน) เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ ก็ให้กล่าวต่อจากนั้นเพิ่มไปอีกว่า "วะเราะฮฺมะตุลลอฮิ วะบะเราะกาตุฮฺ" (และความเมตตาของอัลลอฮฺและความจำเริญจากพระองค์จงเป็นของท่าน) อย่างไรก็ตาม ควรพยายามที่จะเป็นผู้กล่าวสลามก่อน
    
                  2.  การจับมือกันหลังการทักทายจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยผู้ชายจะจับมือกับผู้ชาย และหญิงจับมือกับผู้หญิงเท่านั้น ห้ามชายและหญิง จับมือกันในการทักทาย(ไม่ว่าจะมีสิ่งอื่นปิดกั้นหรือไม่ จะเอาผ้ามารองหรือใส่ถุงมือก็ตาม หากถือว่าการเอาสิ่งอื่นมารองถือว่าจับมือได้แล้ว อวัยวะส่วนอื่นที่ห้ามสัมผัสหากมีผ้าหรือสิ่งอื่นมาปิดกั้นถือว่าใช้ได้กะนั้นหรือ?) เว้นแต่จะเป็นญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต หรือบุคคลที่เรามิอาจแต่งงานด้วยได้เท่านั้น การจับมือควรจับให้กระชับพอดี ไม่ใช่แค่ใช้ปลายนิ้วแตะกัน หรือบีบมือจนแน่นเกินไป
    


                 3.  เมื่อเข้าบ้าน ก็ให้กล่าวสลามแก่สมาชิกในครอบครัว และก่อนที่จะเข้าบ้านคนอื่น ก็ให้สลามแก่คนในบ้านนั้นเสียก่อน และกล่าวสลามอีกครั้งหนึ่งเมื่อตอนจะกลับ 

                 4.  ถึงแม้จะเป็นมารยาทที่ผู้น้อยจะต้องกล่าวสลามแก่ผู้ใหญ่ แต่การกล่าวสลามแก่เด็กเล็ก ๆ ก็ไม่เป็นที่ต้องห้ามหรือเสียหาย ในทางตรงกันข้าม มันกลับการเป็นการดีเสียอีก เพราะการกระทำเช่นนั้น เป็นการฝึกเด็ก ๆ ให้รู้จักมักคุ้นกับวัฒนธรรมในการทักทายของอิสลาม 
   
                5.  ผู้หญิงอาจกล่าวสลามทักทายผู้ชายเช่นเดียวกับผู้ชายก็สามารถที่จะกล่าวสลามทักทายผู้หญิงได้เช่นกัน 
                 6.   ผู้น้อยจะต้องกล่าวคำสลามต่อผู้ใหญ่ ผู้ที่เดินอยู่จะต้องกล่าวสลามแก่ผู้ที่นั่งอยู่ คนหมู่น้อยจะกล่าวสลามแก่คนหมู่มาก ผู้ที่อยู่บนยานพาหนะจะต้องกล่าวสลามแก่ผู้ที่เดินหรือนั่งอยู่ข้างทาง
    
                7.  การกล่าวคำว่า "อัสสะลามุอะลัยกุม" เป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่ถูกทักทายอย่างดีที่สุดแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องเอ่ยชื่อของผู้ที่เราทักทายอีก 
                8.  ถ้าหากมีโอกาสที่จะฝากให้ใครกล่าวสลามแก่ญาติผู้ใหญ่หรือญาติมิตรเพราะเราไม่สามารถที่จะไปพบได้ ก็จงฉกฉวยโอกาสนั้นฝากสลามไปถึงบุคคลที่เราต้องการ 
                9.  อนุญาตให้กล่าวสลามแก่ที่ชุมนุมที่มีทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิมอยู่ร่วมกันได้ 
               10.  เมื่อท่านศาสดามุฮัมมัดส่งสารไปยังจักรพรรดิเฮราคลีอุสแห่งอาณาจักรโรมัน เพื่อเชิญชวนให้เข้ารับอิสลาม ท่านได้ใช้คำทักทายจักรพรรดิคริสเตียนว่า "สะลามุ อะลา มะนิตตะบะอัล หุดา" (สันติจงมีแด่ ผู้ปฏิบัติตามทางนำ) 
               11. เมื่อเพื่อนพ้อง หรือญาติใกล้ชิดหรือผู้อาวุโส กลับมาจากการเดินทางไกล โดยเฉพาะเมื่อกลับมาอุมเราะฮหรือฮัจญ์ จงกล่าวสลาม และสวมกอด 
               12. เมื่อเดินผ่านสุสาน (กุบูร) ฝังศพมุสลิม ให้กล่าวสลามแก่ผู้ที่อยู่ในสุสานว่า "อัสสะลามุ อะลัยกุม ยาอะฮลัล กุบูร" (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน โอ้ ชาวสุสาน) 

  


   จงหลีกเลี่ยงการกล่าวสลามภายใต้สถานการณ์ดังต่อไปนี้ :
   1.       เมื่อคนกำลังสนใจอยู่กับการอ่าน ฟัง หรือกำลังสอนกุรอาน
   2.       เมื่อใครกำลังกล่าวหรือฟังคำปราศรัยหรือคำเทศนาอยู่
   3.       เมื่อใครบางคนกำลังอะซาน หรือตักบีร
   4.       เมื่อผู้คนกำลังพูดคุยกันถึงเรื่องบทบัญญัติของอัลลอฮฺ
   5.       เมื่อครูกำลังสอนหนังสือ
   6.       เมื่อคนกำลังถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ

   อย่ากล่าวสลามให้แก่บุคคลที่กำลังทำสิ่งต่อไปนี้ :

   1.       ผู้ที่กำลังทำสิ่งชั่วช้าลามกที่อิสลามได้ห้ามไว้
   2.       ผู้ที่กล่าวโจมตีให้ร้าย บิดเบือนศาสนา หรือเอาศาสนามาพูดเป็นเรื่องตลก
   3.       ผู้ที่พูดปลุกปั่นยุยงให้คนเกลียดและต่อต้านศาสนา ไม่เพียงแต่จะต้องไม่กล่าวสลามให้แก่คนดังกล่าวมาเท่านั้น ท่านจะต้องแสดงความรังเกียจการกระทำ และผู้กระทำเช่นนั้นด้วย
    
    
    والله أعلم


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น